ข่าวสารและบทความ

ประกันสุขภาพ : แบบทดสอบการนอนหลับกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีกี่แบบ ใช้แบบไหนดี?(ตอนที่ 1)

ประกันสุขภาพ : แบบทดสอบการนอนหลับกับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีกี่แบบ ใช้แบบไหนดี?(ตอนที่ 1)

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) คือ ภาวะที่ระบบทางเดินหายใจมีการตีบแคบลงซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากลักษณะของกล้ามเนื้อในช่องคอและลิ้นที่มีการหย่อนไปปิดทางเดินหายใจขณะหลับ ส่งผลทำให้อากาศและออกซิเจนไม่สามารถเข้าสู่ปอดไปเลี้ยงร่างกายและสมองได้ ซึ่งทำให้ภาวะดังกล่าวกลายเป็น 1 ในโรคต้องห้ามขณะขับรถ ดังนั้นแล้ว “แบบประเมินการนอน” อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยประเมินความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ แต่จะเลือกแบบประเมินการนอนหลับแบบไหนดี สินมั่นคง ประกันสุขภาพ รวบรวมข้อมูลแบบทดสอบคุณภาพการนอนมาฝาก

 

สารบัญบทความ
1. แบบสอบถาม Berlin Questionnaire 
2. แบบทดสอบระดับความง่วงนอน (Epworth Sleepiness Scale: ESS)
3. แบบประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (STOP-Bang Questionnaire) 

 

 

1. แบบสอบถาม Berlin Questionnaire 

แบบสอบถาม Berlin Questionnaire ถูกคิดค้นขึ้นโดยการประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์ชาวอเมริกันและชาวเยอรมัน จำนวน 120 คน ในปี 1996 เนื่องจากการตรวจคัดกรองผู้มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะอุดกันทางเดินหายใจด้วยการตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) เป็นวิธีการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน แต่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ผู้มีความเสี่ยงไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที 

แบบสอบถามนี้เลือกใช้คําถามเพื่อแสดงปัจจัยเสี่ยงของโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ในการประเมินความเสี่ยง ประกอบด้วยคำถาม 10 ข้อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคำถามที่เกี่ยวข้องกับเสียงกรน ภาวะการง่วงนอนช่วงกลางวัน และการมีโรคประจำตัว (โรคความดันโลหิตสูง)

ทั้งนี้ เกณฑ์ในการให้คะแนนจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มคำถาม หากผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลประเมินคะแนนในระดับที่สูงตั้งแต่ 2 กลุ่มคำถามขึ้นไป อาจวิเคราะห์เบื้องต้นได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวมีภาวะความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ในขณะที่หากได้รับคะแนนในระดับที่สูงน้อยกว่า 2 กลุ่มคำถาม อาจจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงต่ำ


ตัวอย่างคำถามแบบสอบถาม Berlin Questionnaire
- คุณนอนกรนหรือไม่?
- ความดังของการกรน
- ความถี่ของการกรน
- การกรนของคุณรบกวนคนอื่นหรือไม่?
- อาการหยุดหายใจขณะนอนหลับของคุณได้ถูกสังเกตว่าเป็นบ่อยแค่ไหน?
- คุณยังรู้สึกอ่อนเพลียหลังจากได้นอนหลับไปแล้วหรือไม่?
- คุณรู้สึกอ่อนเพลียในช่วงที่ตื่นอยู่หรือไม่?
- คุณเคยงีบขณะขับรถหรือไม่?
- คุณมีน้ำหนักเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
- คุณมีความดันโลหิตสูงหรือไม่?

กลับสู่สารบัญบทความ

 

 

2. แบบทดสอบระดับความง่วงนอน (Epworth Sleepiness Scale: ESS)

Epworth Sleepiness Scale (ESS) เป็นแบบสอบถามที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ติดตามผลการรักษาผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้นขณะนอนหลับ โดยเน้นประเมินความรุนแรงของอาการง่วงนอน หรือโอกาสในการผล็อยหลับในช่วงกลางวันภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน แบบสอบถามประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ หากผู้ตอบแบบสอบถามได้คะแนนสูง จะแสดงถึงระดับความง่วงนอนในช่วงกลางวันที่มากขึ้น มีเกณฑ์การให้คะแนนความรู้สึกง่วงในสถานการณ์ที่กำหนด ดังนี้

- 0 หมายถึง ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือเผลอหลับ
- 1 หมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือ หรือเผลอหลับเล็กน้อย (นานๆ ครั้ง)
- 2 หมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือเผลอหลับปานกลาง
- 3 หมายถึง มีความเป็นไปได้ที่จะงีบหรือเผลอหลับสูง (เป็นประจำ)

ตัวอย่างสถานการณ์ในคำถามแบบประเมินระดับความง่วงนอน (Epworth Sleepiness Scale: ESS) ได้แก่

- ขณะกำลังนั่งและอ่านหนังสือ
- ขณะกำลังดูโทรทัศน์
- ขณะกำลังนั่งเฉยๆ ในที่สาธารณะ เช่น โรงภาพยนตร์ หรือที่ประชุมสัมมนา
- ขณะกำลังนั่งเป็นผู้โดยสารในรถนานกว่า 1 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง
- ขณะกำลังได้นอนเอนหลังเพื่อพักผ่อนในตอนบ่ายถ้ามีโอกาส
- ขณะกำลังนั่งและพูดคุยกับผู้อื่น
- ขณะกำลังนั่งเงียบๆ หลังอาหารกลางวันโดยที่ไม่ได้ดื่มแอลกฮออล์
- ขณะกำลังขับรถแต่หยุดรถเพื่อรอสัญญาณจราจรนาน 2-3 นาที

ทั้งนี้ แบบสอบถามดังกล่าวดัดแปลงจากแบบสอบถาม ‘Berlin Questionnaire’ ที่ใช้อย่างแพร่หลาย โดยเพิ่มคำถามคัดกรองเกี่ยวกับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) จำนวน 4 ข้อในแบบสอบถามส่วนแรก เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในกลุ่มประเทศตะวันออกที่มีโครงสร้างทางกายภาพที่เล็กกว่าคนในตะวันตก และเรียกชื่อแบบสอบถามใหม่ว่า “Modified Berlin Questionnaire’

กลับสู่สารบัญบทความ

 


3. แบบประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (STOP-Bang Questionnaire) 

แบบประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (STOP-Bang Questionnaire) เป็นอีกหนึ่งแบบสอบถามที่มักถูกนำมาใช้คัดกรองผู้ที่มีภาวะเสี่ยงในการเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เนื่องจากคำถามสั้น เข้าใจง่าย และสามารถคัดกรองผู้ที่มีภาวะเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยคำถาม 8 ข้อ ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงที่แสดงให้เห็นแนวโน้มในการเกิด OSA ได้แก่ 

- ความดังของเสียงกรน (Snoring) 
- ความเหนื่อยเพลียหรือง่วง (Tired) 
- การสังเกตพบลักษณะหยุดหายใจ (Observed Apnea)
- การเป็นโรคความดันโลหิตสูง (High Blood Pressure)
- ดัชนีมวลกายที่แสดงภาวะอ้วน (BMI)
- อายุที่มากกว่า 50 ปี (Age)
- เส้นรอบคอที่มากกว่า 40 เซนติเมตร (Neck Circumference)
- เพศชาย (Male Gender)

 

ตัวอย่างคำถามแบบประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (STOP-Bang Questionnaire) ได้แก่

- คุณนอนกรนดังหรือไม่? (ดังกว่าเสียงพูด หรือ ดังพอที่จะได้ยินออกไปนอกห้อง)
- คุณมักรู้สึกอ่อนเพลีย ล้า หรือง่วงนอนในระหว่างกลางวันบ่อยๆ หรือไม่?
- มีคนเคยสังเกตเห็นว่าคุณหยุดหายใจขณะที่คุณหลับอยู่หรือไม่?
- คุณมีความดันโลหิตสูง หรือกำลังรักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่หรือไม่?
- ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 หรือไม่?
- อายุมากกว่า 50 ปี หรือไม่ ?
- เส้นรอบวงคอมากกว่า 40 ซม. หรือไม่?
- เป็นเพศชายหรือไม่?

ทั้งนี้ หากผู้ตอบแบบสอบถามตอบ ‘ใช่’ มากกว่า 3 ข้อขึ้นไป ถือว่าจัดอยู่ในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และหากคะแนนมากขึ้น จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ผู้ทำแบบสอบถามที่ตอบใช่น้อยกว่า 3 ข้อ มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็น OSA ระดับปานกลาง หรือรุนแรง ในขณะที่หากตอบใช่ มากกว่า 5 ข้อ ถือว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็น OSA ระดับปานกลางหรือรุนแรง 

กลับสู่สารบัญบทความ


แบบสอบถามประเมินการนอนหลับยังมีอีกหลายรูปแบบ และเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) เบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนการตรวจวินิฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพการนอนอย่างใกล้ชิดร่วมด้วยได้
เลือก “ประกันสุขภาพคุ้มค่า” หรือ “ประกันสุขภาพเอกซ์ตรา” ประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย จ่ายค่ารักษาตามจริง เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่จำกัดจำนวนครั้งให้วุ่นวาย ด้วยวงเงินสูงสุด 500,000 บาท เบี้ยเริ่มต้นเพียง 5,000 บาท/ปี คลิก www.smk.co.th/prehealth

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ประกันสุขภาพ : นอนมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

- ประกันสุขภาพ : ท่านอนมีผลต่อร่างกายอย่างไร

- ประกันสุขภาพ : ทำไม? ต้อง ประกันสุขภาพ “คุ้มค่า & เอกซ์ตรา”